080 175 2000 info@53ac.com

จ่ายเงินค่าโฆษณาออนไลน์ไปต่างประเทศเสียภาษีอย่างไร

ปัจจุบัน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ต่อไปนี้ เรียกว่านิติบุคคล) มีการทำโฆษณาบน Search engine ต่าง ๆ เช่น Google เป็นต้น หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า Google Adwords เป็นจำนวนมากซึ่งการทำโฆษณากับ Search engine ดังกล่าว นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาให้กับบริษัท Google สถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไอร์แลนด์ ตามจำนวนครั้งที่ผู้สนใจเข้ามาคลิกดูเนื้อหาใน website นิติบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร ดังนี้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อนิติบุคคลจ่ายค่าโฆษณาออนไลน์ให้กับ Google ในต่างประเทศ นิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เนื่องจากรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของนิติบุคคล จึงไม่ต้องห้ามในการนำรายจ่ายนั้นมาใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นิติบุคคลต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินเป็นสำคัญ เช่น หลักฐานใบเสร็จรับเงินระบุชื่อนิติบุคคลเป็นผู้จ่าย หรือหลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคารที่พิสูจน์ชื่อผู้จ่ายและผู้รับเงินได้ เป็นต้น

ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย เมื่อนิติบุคคลจ่ายโฆษณาออนไลน์ให้กับ Google นิติบุคคลไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด เนื่องจากเงินค่าโฆษณาที่ Google ในต่างประเทศได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อนิติบุคคลจ่ายเงินได้ให้กับนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศจึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด

ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อการโฆษณาของ Google ในต่างประเทศ ทำให้ผู้ใช้บริการในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ สามารถเข้าดูได้ การโฆษณาดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรไทย Google จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย ซึ่งการจ่ายเงินให้แก่ Google ซึ่งอยู่ในต่างประเทศนั้น มาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ “ผู้จ่าย” เงินค่าโฆษณาเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทน Google ในต่างประเทศ ด้วยแบบ ภ.พ.36 ในอัตราร้อยละ 7 ของค่าโฆษณาที่ได้จ่ายไป เช่น นิติบุคคลจ่ายค่าโฆษณา จำนวน 20,000 บาท ไปต่างประเทศนิติบุคคลมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ให้แก่กรมสรรพากร จำนวน 1,400 บาท ด้วยแบบ ภ.พ.36 ภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งดังกล่าวนิติบุคคลมีสิทธินำมาถือเป็นภาษีซื้อได้ตามมาตรา 77/1 (18) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร และใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้สำหรับการรับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวถือเป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนิติบุคคลมีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในเดือนที่มีการนำส่งภาษีได้ด้วย กรณีนิติบุคคลไม่ได้ยื่นแบบ ภ.พ.36 และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ต้องเสียเงินเพิ่ม ในอัตราร้อยละ 1.5% ต่อเดือน

เช่น นิติบุคคลจ่ายค่าโฆษณาไปให้ Google ในเดือนมีนาคม นิติบุคคลมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.36 ภายในวันที่ 7 ของเดือนเมษายน ซึ่งนิติบุคคลดังกล่าวไม่ได้ยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนดังกล่าว แต่ได้ยื่นแบบและนำส่งภาษีในเดือนกันยายนของปีนั้น นิติบุคคลต้องเสียเงินเพิ่มอีก 5 เดือน (เดือนภาษีพฤษภาคม-เดือนภาษีกันยายน) กล่าวคือ สมมติว่า นิติบุคคลจ่ายค่าโฆษณา 100,000 บาท ในเดือนภาษีมีนาคม (ภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน7,000 บาท) เมื่อนิติบุคคลดังกล่าวมายื่นแบบ ภ.พ. 36 และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรในวันที่ 5 กันยายนของปีเดียวกันนั้น นิติบุคคลจะต้องเสียเงินเพิ่ม จำนวน 525 บาท (คำนวณมาจาก 7,000 x 1.5% x 5) รวมเป็น 7,525 บาท โดยนิติบุคคลสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้จ่ายให้แก่กรมสรรพากร จำนวน 7,000 บาทนั้นมาเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีกันยายนได้ (โดยให้ถือใบเสร็จของกรมสรรพากรเป็นใบกำกับภาษี) และสำหรับเงินเพิ่มจำนวน 525 บาท นิติบุคคลไม่สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของนิติบุคคลได้ เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร

การจ่ายเงินค่าโฆษณาออนไลน์ไปต่างประเทศ กฎหมายไม่ได้ห้ามมิให้นิติบุคคลนำรายจ่ายดังกล่าวมาใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่สิ่งสำคัญ คือ หน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งนิติบุคคลจำนวนมากละเลยไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรกำหนด และได้รับโทษ 2 ชั้น คือ ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่รัฐและไม่สามารถนำรายจ่ายเกี่ยวกับเงินเพิ่มนั้นมาถือเป็นรายจ่ายของนิติบุคคลได้แต่อย่างใด

 

 

 2,436 total views,  1 views today