080 175 2000 info@53ac.com

บุคคลธรรมดาเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลได้อย่างไร

ในปัจจุบันการประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัลที่ไร้ขอบเขต ไร้ขีดจำกัดอะไรที่ว่ายุ่งยากทำไม่ได้ก็สามารถทำได้แล้วในยุคนี้ ไม่จำเป็นต้องมีสถานประกอบการก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ตนเองได้ และยังมีระบบการชำระเงินที่ไม่ต้องพกเงินสดก็สามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการได้อย่างง่าย การปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจที่รู้เท่าทันและต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ต่างจากธุรกิจหลายประเภทที่ต้องปิด หรือเลิกกิจการ เช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจจากเดิมที่เป็นบุคคลธรรมดาเคยประกอบการค้าซื้อมาขายไป มีต้นทุนมีค่าใช้จ่ายก็สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อสังคมสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมีผู้ประกอบการรายใหม่หลากหลายราย รูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนไปแบบก้าวกระโดด มีการแข่งขันด้านราคาและข้อมูลข่าวสาร ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา จึงควรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นนิติบุคคลที่ต้องประกอบกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมายของกรมสรรพากร รวมถึงการจัดทำบัญชีแสดงผลการประกอบการที่แท้จริง จะทำให้มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และมีศักยภาพในการขยายกิจการต่อไปได้ เป็นการสร้างความโปร่งใส และสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีผู้ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลรายใหม่ในระบบภาษีเพิ่มขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคลโดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ออกไป เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จากเดิมที่มีระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560

 

บุคคลธรรมดาที่ประสงค์จะเปลี่ยนเป็นนิติบุคคล สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th เมื่อจดทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้รับเลขทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งเป็นเลขเดียวกันกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกรมสรรพากรสามารถใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้

 

หน้าที่ของผู้ประกอบการนิติบุคคล

1.เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และหากเป็นผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

 

2.เสียภาษีจากกำไรสุทธิ (กรณีขาดทุนสุทธิไม่ต้องเสียภาษี) ผลขาดทุนสุทธิยกมาได้ไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ โดยคำนวณอัตราภาษี ดังนี้

กรณีทั่วไป    เสียภาษีจากกำไรสุทธิทั้งจำนวนร้อยละ 20

กรณี SMEs           – กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี

– กำไรสุทธิเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาทเสียภาษีจากกำไรสุทธิร้อยละ 15

– กำไรสุทธิเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีจากกำไรสุทธิร้อยละ 20

 

3.ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ขึ้นอยู่กับประเภทนิติบุคคลที่จดทะเบียนว่าเป็นแบบไหน (ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท ฯลฯ) บัญชีที่ต้องจัดทำประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด งบการเงินรวม หมายเหตุประกอบงบการเงิน งบการเงินเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี เป็นต้น

 

4.การตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ นำไปประกอบการตัดสินใจในการทำธุรกิจ และวางแผนทางธุรกิจอย่างเหมาะสม จำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีที่เป็นมาตรฐานการบัญชี

(4.1) กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท รายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ต้องมีผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ตรวจสอบและรับรองบัญชี

(4.2) กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีใช่ตาม (4.1) ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงิน

 

5.ยื่นงบการเงินที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กำหนดให้ยื่นภายใน 5 เดือนและกรมสรรพากรต้องยื่นภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีหากผู้ประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ของกรมสรรพากร และนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ไม่ต้องยื่นงบการเงินต่อกรมสรรพากรอีกตามประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 318) และจะได้รับการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบออกไปอีก 8 วันนับจากวันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบ

 

 

6.การโอนกิจการ

เดิมเป็นบุคคลธรรมดาและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องการเลิกกิจการและประสงค์โอนกิจการทั้งหมดให้ผู้รับโอนกิจการ (เป็นนิติบุคคล) และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งผู้โอนกิจการและผู้รับโอนกิจการต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนี้

 

บุคคลธรรมดา (ผู้โอนกิจการ) ต้องยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.09 แจ้งโอนกิจการ และแจ้งเลิกประกอบกิจการ ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วันและต้องคืนใบทะเบียน

 

นิติบุคคล (ผู้รับโอนกิจการ) ต้องยื่นคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ.09 แจ้งการรับโอนกิจการ และแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี) ณ สถานที่ที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันรับโอนกิจการ

 

กรณีผู้รับโอนกิจการไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้รับโอนยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันรับโอน

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่เปลี่ยนไปประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น (ต้องกระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561)

 

 

 7,475 total views,  1 views today