080 175 2000 info@53ac.com

ผลของการปิดอากรผิดวิธีที่กฎหมายกำหนด

อากรแสตมป์ (Stamp Duty) เป็นภาษีทางอ้อมที่จัดเก็บจากการกระทำตราสารประเภทต่าง ๆ ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 28 ลักษณะ และมีวิธีการเสียอากรสำหรับตราสารที่กำหนดไว้ในบัญชีอากรแสตมป์ 3 วิธีตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร คือ เสียอากรโดยให้แสตมป์อากรปิดบนตราสาร เสียอากรโดยชำระเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร และเสียอากรโดยการยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนและชำระเป็นเงินไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่า

 

สิ่งสำคัญที่ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ต้องระมัดระวัง คือวิธีการเสียอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากหากเสียอากรแสตมป์ผิดวิธีถือว่าตราสารดังกล่าวยังไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 103 และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวยังไม่หมดหน้าที่ในการเสียอากรแสตมป์ แต่ยังคงมีหน้าที่ต้องนำตราสารดังกล่าวไปเสียอากรอีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งเสียเงินเพิ่มอากรอีกด้วย ในทางปฏิบัติ ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์มักเกิดข้อผิดพลาดในวิธีการเสียอากรแสตมป์โดยเฉพาะกรณีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร ซึ่งผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์มักเข้าใจว่าตนสามารถขอเสียอากรเป็นตัวเงินได้สำหรับตราสารทุกลักษณะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายอากรแสตมป์กำหนดลักษณะตราสารที่ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ให้สามารถขอเสียอากรเป็นตัวเงินได้เพียง 12 ตราสารตามที่กำหนดในมาตรา 103 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37)ฯ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เท่านั้นดังนั้น กรณีผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ได้เสียอากรเป็นตัวเงินในตราสารโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายนั้น ถือว่าตราสารนั้นมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากรคำถามที่ตามมา คือ ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์จะมีวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

 

สิ่งที่ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ต้องปฏิบัติ คือ ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับตราสารที่ได้เสียไปผิดพลาดให้ถูกต้องตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดพร้อมกับยื่นคำร้องเพื่อขอคืนค่าอากรแสตมป์ภายในกำหนดเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่เสียอากรตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร หากพ้นกำหนดดังกล่าว ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ไม่สามารถขอคืนค่าอากรแสตมป์ที่ชำระไปแล้วให้แก่กรมสรรพากรได้แต่อย่างใด เช่น วันที่ 1 เมษายน 2560 ห้าง ก. ได้ทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์อันเข้าลักษณะแห่งตราสารที่ 1. แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์โดยสัญญาเช่าดังกล่าวมีค่าเช่าตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป และเป็นตราสารที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2559 เป็นต้นไป ห้าง ก. จึงมีหน้าที่ต้องเสียอากรโดยชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรตามข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบบั ที่ 37)ฯ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 แต่เนื่องจากห้าง ก. ได้ชำระอากรโดยวิธีปิดแสตมป์ลงบนสัญญาเช่า กรณีนี้จึงถือได้ว่าตราสารยังมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามมาตรา 103 ประกอบกับมาตรา 104 แห่งประมวล

รัษฎากร ห้าง ก. ยังคงมีหน้าที่ต้องนำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ ซึ่งห้าง ก.

ได้นำตราสารดังกล่าวไปชำระอากรเป็นตัวเงินพร้อมเงินเพิ่มอากรเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 และยื่นคำร้อง

ขอคืนค่าอากรแสตมป์ที่ได้ชำระไว้โดยวิธีการปิดแสตมป์ลงบนตราสารเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเกินกำหนดเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่เสียอากร ห้าง ก. จึงไม่มีสิทธิขอคืนค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวได้แต่อย่างใด

 

การทำความเข้าใจลักษณะของตราสารที่ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์มีสิทธิขอเสียอากรโดยชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรตามที่กฎหมายกำหนดเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ไม่มีสิทธิขอนำค่าอากรแสตมป์ที่เสียผิดพลาดไปแล้วนั้นมาหักกลบกับอากรแสตมป์ที่ต้องชำระเป็นตัวเงินได้ แต่สามารถขอคืนค่าอากรแสตมป์ที่ชำระผิดพลาดนั้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้เท่านั้น และต้องเสียอากรเป็นตัวเงินสำหรับตราสารนั้นให้แก่กรมสรรพากรอีกครั้งหนึ่งพร้อมทั้งต้องเสียเงินเพิ่มด้วย จะเห็นได้ว่า ผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ที่ชำระค่าอากรแสตมป์ผิดวิธีที่กฎหมายกำหนดมีหน้าที่ที่ต้องกระทำอยู่หลายประการ ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จึงควรศึกษาข้อกฎหมายหรือสอบถามเจ้าหน้าที่สรรพากรก่อน หากผู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ที่ไม่มั่นใจว่าตราสารที่ตนถืออยู่นั้นต้องเสียอากรแสตมป์ด้วยวิธีใด

 

 3,384 total views,  1 views today