080 175 2000 info@53ac.com

ไม่ดีจริงไม่ส่งเสริม…SMEs

ทุกวันนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก SMEs ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึงแต่ SMEs แถมด้วยรัฐยังสนับสนุนให้ธุรกิจมีความเจริญเติบโตแบบไม่หยุด SMEs ย่อมาจาก Small and Medium Enterprises คือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญยิ่ง ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประเทศและเป็นรากฐานความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก มีผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่หลายรายที่ประสบความสำเร็จจากการคิดค้น ต่อยอด ที่ประกอบธุรกิจให้บริการ ผลิตสินค้า ขายสินค้า สามารถทำกำไรให้ธุรกิจได้อย่างงดงาม หลายท่านอาจสงสัยว่าแล้วอย่างไรถึงเรียกว่า SMEs วารสารสรรพากรฉบับนี้จะขอแนะนำลักษณะ

การประกอบธุรกิจที่เรียกว่า SMEs

 

ลักษณะธุรกิจ SMEs

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ. 2543 จะขึ้นอยู่กับกิจการ 4 ประเภท ประกอบด้วย

1.กิจการผลิตสินค้า

วิสาหกิจขนาดย่อม มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาทวิสาหกิจขนาดกลาง มีจำนวนการจ้างงาน 51-200 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวร 51-200 ล้านบาท

2.กิจการค้าส่ง

วิสาหกิจขนาดย่อม มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 25 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาทวิสาหกิจขนาดกลาง มีจำนวนการจ้างงาน 26-50 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวร 51-100 ล้านบาท

3.กิจการค้าปลีก

วิสาหกิจขนาดย่อม มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 15 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 30 ล้านบาทวิสาหกิจขนาดกลาง มีจำนวนการจ้างงาน 16-30 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวร 31-60 ล้านบาท

4.กิจการให้บริการ

วิสาหกิจขนาดย่อม มีจำนวนการจ้างงานไม่เกิน 50 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาทวิสาหกิจขนาดกลาง มีจำนวนการจ้างงาน 51-200 คน จำนวนสินทรัพย์ถาวร 51-200 ล้านบาท

 

 

 

 

 

SMEs จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

1.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 30 ล้านบาท จะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก หรือบริษัทฯ ที่มีแรงงานไม่เกิน 200 คน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง เป็นต้น

2.บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน จ้างนักศึกษาทำบัญชีสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561

3.กิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือต่อรอบระยะเวลาบัญชีได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

4.จ้างงานผู้สูงอายุ หักรายจ่ายได้ 2 เท่า โดยต้องแจ้งการใช้สิทธิ จ้างงานผู้สูงอายุที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีด้วย

 

นอกจากสิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว กรมสรรพากรยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs จัดทำบัญชีด้วยตัวเอง โดยได้จัดทำโปรแกรมบัญชีอย่างง่ายสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีพื้นฐานด้านบัญชี ให้สามารถจัดทำบัญชีได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้องตามมาตรฐานบัญชีและกฎหมายภาษี ดาวน์โหลดโปรแกรมได้ที่ www.rd.go.th/publish/41464.0.html เพื่อลดภาระด้านค่าใช้จ่ายและเป็นการส่งเสริมให้ปฏิบัติทางภาษีให้ถูกต้อง

ตามมาตรการสนับสนุนการจัดทำบัญชีชุดเดียวให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของการประกอบการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และมีความน่าเชื่อถือ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการยังสามารถใช้บัญชีและงบการเงินที่นำส่งกรมสรรพากรเป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขอสินเชื่อสถาบันการเงินได้ด้วย

 

นอกจากนั้น สภาวิชาชีพบัญชีได้จัดทำ “Application SME สบายใจ” เพียงแค่ป้อนข้อมูลซื้อ ขาย จ่าย รับ ระบบก็จะทำการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีโดยอัตโนมัติและประมวลผลรายงานกำไรขาดทุนเบื้องต้นให้ทันที และยังสามารถปรับปรุงรายการต่าง ๆ งบกำไรขาดทุนงบแสดงฐานะทางการเงิน เพื่อนำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรได้อีกด้วย (ดาวน์โหลดและทดลองการใช้งานได้ที่ https://goo.gl/forms/heqVp5rl3QgHJnBj1) ทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนและส่งเสริมให้ขนาดนี้แล้วผู้ประกอบการ SMEs คงจะหายกังวลใจประกอบธุรกิจอย่างสบายใจได้

 

 2,320 total views,  1 views today