080 175 2000 info@53ac.com

สิทธิประโยชน์ จากการจ้างงานคนพิการ

รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคนพิการซึ่งด้อยโอกาสทางสังคม เนื่องจากมีร่างกายที่ไม่พร้อมเหมือนคนปกติทั่วไปจึงได้จัดให้มีสวัสดิการสำหรับคนพิการ รวมถึงสิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษสำหรับสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากมายในที่นี้จึงขอนำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายสิทธิประโยชน์จากการจ้างคนพิการเข้าทำงานมาเพื่อแนะนำเป็นข้อมูลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่อาจยังมีข้อสงสัยในการบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างงานมานำเสนอ ดังนี้

 

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

มาตรา 33 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน…

 

กฎกระทรวงแรงงานกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปรับคนพิการที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด ในอัตราส่วนลูกจ้างที่มิใช่คนพิการทุก 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน เศษของ 100 คน ถ้าเกิน 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน

 

มาตรา 34 นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่กำหนดตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 24 (5) ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวง…

 

กฎกระทรวงแรงงานกำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการผู้ใดที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามที่กำหนด และมิได้ดำเนินการตามมาตรา 35 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่ใช้บังคับครั้งหลังสุดในปีก่อนปีที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคูณด้วย 365 และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน

 

มาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงาน และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุน นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือหรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการ

 

การบันทึกบัญชีรายจ่ายการจ้างคนพิการ

หักเป็นรายจ่ายไม่ได้

  • การให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ เช่น การให้ลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายสินค้า การจัดสรรเวลาออกอากาศสถานีโทรทัศน์ การให้ใช้ประโยชน์จากอาคารสถานที่ ฯลฯ กรณีดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์จากสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ของกิจการ ไม่ใช่กรณีการจ่ายค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่มีสิทธินำมูลค่าการให้คนพิการได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นมาถือเป็นรายจ่าย
  • รายจ่ายใด หากจ่ายเพื่อให้ประโยชน์แก่บุคคลอื่นไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ ไม่สามารถนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายได้

 

หักได้ 1 เท่า

  • กิจการที่ไม่ได้จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 1 คนพิการ ต่อพนักงาน 100 คน แต่นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายได้
  • กิจการที่ไม่ได้จ้างคนพิการและไม่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแต่กิจการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใด และกิจการมีการจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวจริง สามารถนำมาบันทึกเป็นรายจ่ายได้แต่จะต้องไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • รายการต่อไปนี้ สามารถนำมาบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายได้

* การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ คือ การจ้างคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยตรง โดยมุ่งผลสำเร็จของงาน

* การฝึกงานให้แก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์      การถ่ายทอดวิทยาการ เทคโนโลยี องค์ความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ

* การจ้างล่ามภาษามือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างคนพิการทางการได้ยิน

* การช่วยเหลืออื่นใด ได้แก่ การสนับสนุนเงินวัสดุ ครุภัณฑ์ เครื่องมือหรือทรัพย์สิน รวมทั้งการซื้อสินค้าจากคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเพื่อให้มีอาชีพ ฝึกอาชีพ เตรียมความพร้อมในการทำงาน

 

หักได้ 2 เท่า

  • รายจ่ายเกี่ยวกับการจ้างคนพิการเข้าทำงานที่สามารถนำมาบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า ได้แก่ เงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันสังคม ฯลฯ
  • การจัดหาอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการในที่ทำงาน

 

หักได้ 3 เท่า

  • สามารถนำเงินเดือน ค่าล่วงเวลา โบนัส ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันสังคม ฯลฯ มาหักรายจ่ายได้หากนิติบุคคลนั้นมีการจ้างคนพิการทำงานเกินร้อยละ 60 ของพนักงานทั้งหมด ระยะเวลาการจ้างเกิน 180 วันในปีภาษีนั้น

 

เอกสารที่ต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร

  • สัญญาจ้างแรงงาน และหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้าง เมื่อจ้างคนพิการเข้าทำงาน
  • ใบเสร็จรับเงิน เมื่อจ่ายเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • หนังสือแจ้งผลการใช้สิทธิตามมาตรา 35 รวมทั้งเอกสารประกอบการขอใช้สิทธิ และหลักฐานการจ่ายเงินดังกล่าว

 

 1,826 total views,  1 views today