จ่ายภาษียังไง? เมื่อออกจากงาน (ตอนที่ 2)
จากฉบับที่แล้ว ได้พูดถึงเงินได้เพราะเหตุออกจากงาน และเอกสารหลักฐานที่จำเป็นต้องใช้ ฉบับนี้เราจะมาดูวิธีการคำนวณภาษีกรณีออกจากงานกันค่ะ เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ส่วนใหญ่จะเป็นเงินก้อนใหญ่ เมื่อนำมารวมคำนวณกับเงินได้ตามมาตรา 48(1) และ (2) จะทำให้ฐานเงินได้ในการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดาสูงไปด้วย แต่กฎหมายกำหนดให้เงินได้เพราะเหตุออกจากงาน สามารถเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร (นำไปคำนวณในใบแนบ ภ.ง.ด.91, 90) ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2 (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) ดังนี้
เงื่อนไขในการแยกคำนวณ
(1) ต้องมีระยะเวลาการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม
(2) เฉพาะเงินได้ที่มีการจ่ายในปีภาษีแรกเท่านั้น
(3) เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่นำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีตามมาตรา 48(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
หมายเหตุ : เงินชดเชยตามกฎหมาย แม้ออกจากงานไม่ถึง 5 ปี หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ก็มีสิทธิยกเว้นเงินค่าจ้าง 300 วันสุดท้ายไม่เกิน 300,000 บาท โดยให้นำเงินที่ได้ไปรวมกับ 40(1) ก่อน แล้วจึงหักเป็นเงินได้ยกเว้น ฐานเงินได้จากเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
(1) กรณีได้รับเงินตาม (ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จข้าราชการ (ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ (ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ให้นำเงินได้ฯ ที่ได้รับดังกล่าวมาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน
(2) กรณีได้รับเงินตาม (ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไป ให้นำมาเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ตาม 2.1 และ 2.2 ให้นำตัวที่น้อยกว่ามาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่าย (ถ้าเงินเดือนเท่ากันทุกเดือนให้ใช้ผลลัพธ์ตาม 2.1)
2.1 *เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ **จำนวนปีที่ทำงาน
2.2 เงินเดือนถัวเฉลี่ย 12 เดือนสุดท้ายบวกร้อยละ 10 คูณ **จำนวนปีที่ทำงาน
(3) กรณีได้รับเงินตาม (ก) – (ง) ให้นำเงินได้ตาม (ก) – (ค) มาเป็นฐานทั้งจำนวน แต่เฉพาะเงินได้ตาม (ง) ให้นำมาเปรียบเทียบตาม (2) โดยนำตัวที่น้อยสุดมารวมกับเงินได้ตาม (ก) – (ค) มาเป็นฐานเพื่อคำนวณหาค่าใช้จ่าย
*เงินเดือนเดือนสุดท้าย หมายความถึง จำนวนเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้าย
**จำนวนปีที่ทำงาน กรณีเศษของปีถึง 183 วัน ให้นับเป็น 1 ปี ถ้าไม่ถึงให้ปัดทิ้ง
2,335 total views, 1 views today