080 175 2000 info@53ac.com

ภาษีจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ในปัจจุบันวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีเปลี่ยนไปมากขึ้น ได้มีการนำเครื่องมือที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการ แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และลงทุนเพื่อหาผลกำไรจากการลงทุน ที่ไม่ใช่ตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่ใช้เครื่องมือแทนเงิน ซึ่งเรียกว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล”ซึ่งประกอบไปด้วย คริปโทเคอร์เรนซี (Crypto Currency) และโทเคนดิจิทัล(Token Digital)

 

คริปโทเคอร์เรนซี (Crypto Currency) เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าอันถือเอาได้เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดทั่วไป หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล

 

โทเคนดิจิทัล(Token Digital) เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ถูกสร้างขึ้นบนเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการลงทุน หรือกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการโดยการเสนอขายเหรียญเริ่มต้น ICO (Initial Coin Offerings) กำหนดหน่วยนับเป็นเหรียญ (Coin)ราคาและมูลค่าของเหรียญขึ้นอยู่กับอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) หากจำนวนผู้ที่ต้องการถือครองเหรียญมีมาก แต่จำนวนเหรียญมีอยู่จำกัด ส่งผลให้ราคาและมูลค่าของเหรียญจะสูงขึ้น

 

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14พฤษภาคม พ.ศ. 2561 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)

มีหน้าที่กำกับดูแล

1) การระดมทุนด้วยการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน โดยผู้ระดมทุนต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ในการขาย ICO Portal นอกจากนี้ต้องมีคุณสมบัติตามที่ ก.ล.ต. กำหนด

2) การประกอบธุรกิจเป็นตัวกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่เป็นศูนย์ซื้อขาย นายหน้าซื้อขาย หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับอนุญาตและมีมาตรฐานตามที่ ก.ล.ต. กำหนด

 

 

 

กรมสรรพากร

กำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัล สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ดังนี้

1) ภาษีเงินได้ ตามมาตรา 40 (4)(ซ)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

2) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากรในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้

 

การลงทุนในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ จึงต้องมีการกำหนดกรอบกติกาและหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนและเป็นมาตรฐานให้เกิดการกำกับดูแลที่ครบถ้วนเพื่อป้องกันการฟอกเงิน รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของนักลงทุนเองจากการบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนสามารถคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียของการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างครบถ้วนและชัดเจนมากขึ้นด้วย

 

 2,060 total views,  1 views today