Sharing Economy
Sharing Economy หรือในชื่อ Collaborative Consumption หรือ Peer to Peer (P2P) คือ แนวคิดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ Sharing หรือการแชร์ทรัพยากรทางเศรษฐกิจระหว่างกลุ่มคนผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยผู้ให้บริการสามารถจัดสรรช่วงเวลาเพื่อแชร์สินค้าหรือบริการ ในขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถเลือกและเข้าถึงสินค้าหรือบริการดังกล่าวโดยไม่ต้องซื้อเพื่อเป็นเจ้าของได้ และหากในที่นี้พูดถึง Uber คงเป็นคำที่หลายคนได้รู้จักกันมาสักระยะหนึ่งแล้วว่าเป็นบริการแท็กซี่ที่เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา วารสารสรรพากร ฉบับนี้จึงขอนำข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งเป็นความรู้ดี ๆ เป็นอย่างมากจากจุลสารการออมการลงทุน สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในเรื่องเกี่ยวกับรูปแบบการให้บริการซึ่งถือเป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นี้มาฝากคุณผู้อ่านทุกท่านให้ได้ทราบและรู้จัก
สำหรับในประเทศไทย กระแสของ Sharing Economy ได้ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล 4.0 เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวได้เข้ามาสร้างนิยามของธุรกิจรูปแบบใหม่ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยแชร์ทรัพยากรในระดับบุคคล ทำให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในบางผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้โดยคุณธนพล กาลเนาวกุล ผู้เขียนบทความนี้ได้สรุปแนวคิด Sharing Economy ไว้พอสังเขป ดังนี้
ผู้บริโภค (Consumer)
การแชร์ทรัพยากร สินค้า และบริการร่วมกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรงส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายแทนการซื้อสินค้าหรือการเช่าสินค้าจากผู้ให้เช่าในรูปแบบเดิม
ผู้ประกอบธุรกิจ (Entrepreneur)
บริษัทที่ประกอบธุรกิจแบบ Sharing Economy ไม่จำเป็นต้องมีสินค้าเป็นของตัวเองบริษัทจะมีการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างน้อยกว่าธุรกิจในรูปแบบเดิมหรือไม่มีเลยส่งผลให้ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน
เศรษฐกิจ (Economy)
แนวคิด Sharing Economy จะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเนื่องจากแนวคิดดังกล่าว จะช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากการแชร์สิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้วผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ในขณะที่ผู้ใช้บริการก็จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ (Perfect Information) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้สามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการได้ดีขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจแบบ Sharing Economy หรือธุรกิจแบบแบ่งปันที่เป็นที่นิยมและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ได้แก่ Uber และ Airbnb โดย Uber เป็นธุรกิจให้บริการการเดินทางในรูปแบบการให้บริการร่วมเดินทาง (Ride Sharing) ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ และ Airbnb จะเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงคนที่มีที่พักว่าง กับคนที่กำลังมองหาที่พักให้มาเจอกัน นอกจากนี้แล้วปัจจุบันยังมีธุรกิจแบบ Sharing Economy ที่ได้ถูกพัฒนาให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอนาคต โดยคุณธนพล กาลเนาวกุล ได้ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มธุรกิจแบบ Sharing Economy ได้แก่
Co-working Platforms
แพลตฟอร์มช่วยจัดหาพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกันให้แก่คนที่ทำงานอิสระ (Freelancers) ผู้ประกอบการ และลูกจ้างที่ทำงานจากที่บ้านในเมืองใหญ่ ๆ
Peer-to-Peer Lending Platforms
แพลตฟอร์มที่อนุญาตให้บุคคลยืมเงินจากบุคคลอื่นได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าการขอสินเชื่อในรูปแบบเดิมจากธนาคาร
Fashion Platforms
แพลตฟอร์มที่จะอนุญาตให้ผู้ใช้บริการสามารถขายหรือเช่าเสื้อผ้าได้
Freelancing Platforms
แพลตฟอร์มที่ช่วยจับคู่ (Matching) ระหว่างความต้องการของ Freelancers กับงานอิสระต่าง ๆ ที่หลากหลาย
นอกจากตัวอย่างธุรกิจแบบ Sharing Economy หรือธุรกิจแบบแบ่งปันที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีธุรกิจNetflix ซึ่งเป็นธุรกิจปล่อยให้เช่าสิทธิในการดูหนังภาพยนตร์ออนไลน์อีกหนึ่งธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในไทยด้วย ซึ่งคงเห็นได้ว่ามีความหลากหลายของธุรกิจที่เกิดขึ้นมาให้เห็นกันมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ดีสำหรับปัจจุบันนี้แม้ว่าธุรกิจรูปแบบ Sharing Economy ในประเทศไทยเราจะยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ โดยล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (National Startup Committee : NSC) ครั้งที่ 4/2560 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นและนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปแล้ว คาดว่าคงอีกไม่นานที่จะได้เห็นความชัดเจนกันต่อไปค่ะว่าเราจะได้ใช้บริการทางเลือกที่มีให้เลือกหลากหลายขึ้นหรือไม่แค่ไหนอย่างไรกันบ้างซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว
2,618 total views, 1 views today